วัดพระธาตุดอยสุเทพ กราบสักการะองค์พระธาตุสีทองเด่นสง่าคู่เมืองเชียงใหม่
Hashtag : -
ถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
อนุโมทนาบุญ 1 , View 11,583
ข้อมูลรายละเอียด

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญในแง่ทั้งทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวไทยโดยทั่วไป ในฐานะที่เป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมากวัดหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 14 กิโลเมตร เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,053 เมตร มีตำนานเล่าไว้ว่า เดิมยอดเขาแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของฤาษี มีนามว่า สุเทวะ ซึ่งขึ้นมาบำเพ็ญเพียรเพื่อสะสมบุญบารมี ดอยสุเทพจึงตั้งตามชื่อของฤาษีนั้นเอง

image

ตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พญากือนา หรือพระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา ได้ทรงสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารไว้บนยอดเขาดอยสุเทพ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย มาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ นอกจากจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแล้ว ยังเป็นพระอารามหลวง 1 ใน 4 ของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย จึงนับว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล

image

image

ส่วนตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน องค์แรกอัญเชิญไว้ที่พระธาตุของวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล และตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทาย ว่าหากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ช้างได้มาหยุดตรงยอดดอยสุเทพ โดยทำทักษิณาวรรตสามรอบก่อนที่จะล้มลง จึงทรงรับสั่งให้สร้างพระบรมธาตุอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดดอยสุเทพ มานับแต่นั้น

image

ก่อนขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุจะเจอกับ บันไดนาค 7 เคียร สัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของวัดพระธาตุดอยสุเทพ มีจำนวนทั้งหมด 306 ขั้น ซึ่งคอยท้าทายแรงศรัทธาของผู้ที่เดินทางมา

image

image

พระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะแม องค์เจดีย์เป็นแบบทรงมอญ ที่ใต้ฐานพระเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุอยู่ จัดได้ว่าเป็นปูชนียสถานที่แสดงออกถึงศิลปกรรมล้านนาไทยที่สำคัญ คู่เมืองเชียงใหม่ โดยรอบองค์พระบรมธาตุประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 5 ประการ ได้แก่

image

ฉัตร 4 มุม ทำด้วยทองเหลือง สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ ผู้ครองนครเชียงใหม่ และฉัตรเป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็น แสดงถึงความสงบร่มเย็นที่ได้รับจากพระพุทธศาสนา ซึ่งแผ่ไปไกลทั้ง 4 ทิศ

image

สัตติบัญชร หรือรั้วหอก ซึ่งภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า เกิดการแย่งพระบรมสารีริกธาตุของเมืองต่างๆ โทณพราหมณ์จึงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ และให้ทหารถือหอกล้อมรอบไว้ เพื่อป้องกันการแย่งชิง จึงเป็นที่มาของรั้วหอกรอบพระบรมธาตุในปัจจุบัน

image

image

หอยอ ลักษณะเหมือนวิหารขนาดเล็ก ประจำอยู่ทั้ง 4 ด้าน ของพระบรมธาตุ ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐาน มีความหมายถึงการบูชาหรือสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า

image

หอท้าวโลกบาล เป็นหอยอดแหลมขนาดเล็ก ประจำอยู่ทั้ง 4 มุมของพระบรมธาตุ หมายถึงที่ประดิษฐานของท้าวโลกบาลทั้ง 4 ซึ่งเป็นเทพที่ปกปักรักษาสิ่งสำคัญต่างๆ 4 ทิศ ทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุ ได้แก่

            - ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ มียักษ์เป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาทิศเหนือ

            - ท้าวธตรัฐ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาทิศตะวันออก

            - ท้าววิรูฬปักข์ มีฝูงนาคเป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาด้านทิศตะวันตก

            - ท้าววิรุฬหก มีอสูรเป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาด้านทิศใต้

image

image

ไหดอกบัว หรือปูรณฆฏะ โดยคำว่า “ปูรณะ” แปลว่า เต็ม หรือสมบูรณ์ ส่วน “ฆฏะ” แปลว่า หม้อ รวมกันจึงแปลว่า หม้อที่แสดงถึงความสมบูรณ์ ซึ่งสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในล้านนาไทย

image

โดยบริเวณรอบองค์พระธาตุยังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานเป็นจำนวนมาก

image

image

image

image

image

image

image

ภายในพระวิหาร ประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ปางมารวิชัย

image

image

image

image

image

image

image

รูปหล่อพระครูบาเจ้าศรีวิชัยประดิษฐานภายในศาลาของวัด นักบุญแห่งล้านนาไทย ซึ่งเป็นพระนักบุกเบิกการสร้างถนนขึ้นไปบนดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ.2477 และยังเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนชาวเชียงใหม่มาอย่างช้านาน

image

สำหรับการสักการะพระธาตุนั้น ควรเตรียมข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน แล้วเดินเวียนขวารอบพระธาตุ 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ โดยตั้งจิตอธิษฐานขอให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ที่สำคัญควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งให้อานิสงส์ที่ต่างกัน คือ ทิศเหนือขอให้มีปัญญาดุจพระจันทร์เพ็ญ, ทิศใต้ ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้บวชในบวรพุทธศาสนา, ทิศตะวันออกขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ และทิศตะวันตกเป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ

image

image

image

image

image

นอกจากนี้บริเวณพระธาตุดอยสุเทพยังเป็นจุดชมวิวยอดนิยม เพราะถ้ามองลงมาจะสามารถเห็นเมืองเชียงใหม่ได้เกือบทั้งเมือง รวมถึงในช่วงเช้าจะพบกับทะเลหมอกที่ลอยไกลสุดลูกลูกตา ส่วนในเวลากลางคืนก็จะมองเห็นแสงไฟนับหมื่นดวง ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นสบายของจังหวัดเชียงใหม่

image

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพาไปวัด

สิ่งที่ห้ามพลาด

- พระธาตุดอยสุเทพ

- บันไดนาค 7 เคียร ความสูง 306 ขั้น

- อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

- ฉัตร 4 มุม

- สัตติบัญชร

- หอยอ

- หอท้าวโลกบาล

- ไหดอกบัว

 

เคล็ดไม่ลับ

- รถรางไฟฟัาเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ในราคาคนละ 20 บาท (สำหรับคนไทย) และ 50 บาท (สำหรับชาวต่างชาติ) หากเดินทางไปหลังเวลา 18.00 น. ต้องขึ้นทางบันไดเท่านั้นพระธาตุเท่านั้น

- ทางวัดจะจัดประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ในวันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี

- ห้ามผู้หญิงเข้าใกล้องค์พระธาตุ เพราะคติทางพุทธศาสนาถือว่าหญิงที่มีรอบเดือนนั้นเป็นสิ่งสกปรก

 

ข้อควรระวัง เนื่องจากภายในบริเวณของวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงขอร้องให้ทุกท่านกรุณาทำตามข้อตกลงนี้ด้วย

- แต่งกายให้สุภาพ และมิดชิด คุณผู้หญิงไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงที่สั้นเกินไป

- ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

- ไม่แตะต้องหรือขึ้นไปเดินในบริเวณที่หวงห้ามอย่างเด็ดขาด

การเดินทาง : สำหรับการเดินทางมายังวัดแห่งนี้ เมื่อมาจากกรุงเทพจนเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถเดินทางใช้เส้นทางผ่านหน้ามหาวิทยาลัย และสวนสัตว์เชียงใหม่ เดินทางตามถนนห้วยแก้วผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 16 กิโลเมตร

ที่ตั้ง : ถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เบอร์โทรศัพท์ : 053-295-000

เวลาทำการ : ทุกวัน 6.00 – 18.00 น. (ไม่เสียค่าเข้าชม)

ติดตามพาไปวัดได้ที่ :

Facebook : https://www.facebook.com/papaiwatofficial
Instragram : https://www.instagram.com/papaiwatofficial
Twitter : https://twitter.com/papaiwatthai

ข้อมูลติดต่อ
อีเมล์
-
เบอร์โทรศัพท์
-
Facebook
-
Twitter
-
Line
-
Intagram
-
Website
-
สมาชิกผู้เข้าร่วมอนุโมทนาบุญ (1)
นางสาวณิชชา ทองไทยนันท์
09 กรกฎาคม 2563 : 21.06 น.
ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
ความรู้สึก
เชิงบวก
100.00%
จากความเห็นทั้งหมด
ความรู้สึก
ไม่บวกไม่ลบ
0.00%
จากความเห็นทั้งหมด
ความรู้สึก
เชิงลบ
0.00%
จากความเห็นทั้งหมด
ข้อมูลที่น่าสนใจ
แชร์งานบุญ
คลิกที่นี่